แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

แนวข้อสอบ 23501

แนวข้อสอบ 23501 สารสนทศและการวิจัยการบริหารการศึกษา
จากการสัมมนาเข้ม เมื่อวันที่ 16-18 กันยายน ที่ผ่านมา อาจารย์บอกแนวข้อสอบไว้ 8 ข้อ ให้เลือกทำ 6 ข้อ แนวค่อนข้างตรง ประมาณว่า ลองมาค้น แล้วลองเขียนดู ก่อนล่วงหน้า เหมือนสอบ comprehensive ของ ป.โท ถ้าทำแบบนี้ คาดว่า น่าจะผ่านฉลุยค่ะ
ข้อ 1 เรื่องสำนักงานอัตโนมัติ ถ้าจะพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นสำนักงานอัตโนมัติจะต้องประเมินในเรื่องใดบ้าง
ข้อ 2 Information คืออะไร ต่างจาก data อย่างไร เราสามารถนำมาใช้ในการบริหารการศึกษาได้อย่างไร
ข้อ 3 ICT หรือ IT คืออะไร มีองค์ประกอบย่อยอะไร สามารถนำไปใช้ได้อย่างไร
ข้อ 4 หัวใจของการวิจัย อยู่ที่การทบทวนวรรณกรรม โดยจะต้องสอดคล้องกับกรอบแนวคิด โยงไปถึงเครื่องมือในการวิจัย (อันนี้ฟังไม่ค่อยเคลียร์ค่ะ แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องการเขียนวิจัย)
ข้อ 5 การวิจัยแบบ action research คืออะไร สามารถนำไปใช้ในการบริหารการศึกษาได้อย่างไร
ข้อ 6 เครื่องมือในการวิจัย (ข้อนี้ก็ไม่ค่อยเคลียร์ค่ะ)
ข้อ 7 การประเมินโครงการ มี 3 ระยะ แต่ละระยะมีการประเมินอย่างไร และสามารถนำผลการประเมินไปใช้ได้อย่างไร
ข้อ 8 ผู้บริหาร ในฐานะ ผู้ผลิต และผู้บริโภคงานวิจัย จะนำสารสนเทศจากการวิจัย ไปใช้ในสถานศึกษาได้อย่างไร
แล้วอาจารย์ก็แถมท้ายว่า ให้ไปดูเรื่อง balanced scorecard และ learning station เท่าๆที่อ่านดูแนว หลายๆข้อ ก็ตรงกับแนวการศึกษาในหนังสือ ถ้าดูแนวตอบจากหนังสือที่ มสธ.ให้มา ก็น่าจะโอเหมือนกันนะคะ
ยังไงก็ลองดูนะคะ ส่วนใครมีแนวที่ละเอียดมากกว่านี้ก็ แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ จะได้ผ่านไปด้วยกัน

แนวข้อสอบ 23720

แนวข้อสอบ 23720 ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารการศึกษา ที่ศูนย์นครสวรรค์ อาจารย์บอกแนวมาประมาณนี้ค่ะ มี 6 ข้อ แต่กว้างๆทั้งนั้นเลย เพื่อนๆคนไหน มีที่แคบๆกว่านี้ เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันนะคะ จะได้ผ่านด้วยกัน
ข้อ 1 การตัดสินใจ การสั่งการ(เน้นของนาย เฮอร์เบิร์ท ไซมอน)
ข้อ 2 ภาวะผู้นำ
ข้อ 3 พฤติกรรมองค์การ ดูตั้งแต่ การพัฒนา วัฒนธรรม บรรยากาศ สุขภาพ องค์การ
ข้อ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา
ข้อ 5 แนวคิดตะวันออกกับการบริหารการศึกษา
ข้อ 6 วิวัฒนาการทฤษฎีการบริหาร

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลเชิงคุณภาพ VS ข้อมูลเชิงปริมาณ

ข้อมูลเชิงคุณภาพ  หมายถึง ข้อมูลที่ไม่สามารถเปรียบเทียบเชิงปริมาณ เช่น มากกว่า น้อยกว่าได้ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลที่แสดงฐานะ สถานภาพ คุณสมบัติ ตัวอย่างของข้อมูลประเภทนี้ ได้แก่ ชื่อของพนักงานในบริษัท เพศ วัน เดือน ปี ชนิดของสินค้า เป็นต้น  ถึงแม้ว่าข้อมูลประเภทนี้จะกำหนดด้วยตัวเลขก็ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับเชิงปริมาณได้เช่น หมายเลขโทรศัพท์ บ้านเลขที่ หรือการกำหนดตัวเลขแทนข้อมูลบางอย่าง เช่น 1 แทนเพศชาย  และ 2 แทนเพศหญิง แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า 2 มีค่ามากกว่า 1 ตัวเลขทั้งสองเป็นแต่เพียงแสดงว่าแตกต่างกัน  เท่านั้น การวิเคราะห์ข้อมูลข้อมูลเบื้องต้นจะกระทำได้ด้วยการเปรียบเทียบจำนวนความถี่ของข้อมูล หรือการเปรียบเทียบ    ปริมาณของค่าสัมพัทธ์  ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลประเภทนี้ไม่สามารถบวก ลบ คูณ หรือหารกันได้
ข้อมูลเชิงปริมาณ หมายถึง ข้อมูลที่แสดงปริมาณ หรือขนาดที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ในลักษณะมากกว่าหรือน้อยกว่าเป็นจำนวนเท่าไร ข้อมูลประเภทนี้มักเป็นข้อมูลที่แสดง ค่าเป็นตัวเลข เช่น จำนวนนักศึกษาในวิทยาลัยต่าง ๆ อายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้า อุณหภูมิของร่างกายของคนป่วยหลังจากการผ่าตัด เป็นต้น
          ข้อสังเกตสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ จะพบว่า ข้อมูลบางอย่างมีลักษณะคล้ายกันมากแต่จัดอยู่คนละประเภท ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ จากการสำรวจความรู้สึกของลูกค้าที่เข้ามารับบริการของโรงแรม  โดยใช้แบบสอบถามเป็นคำถามปลายปิด เชตของกระทงคำถามกลุ่มหนึ่งให้ผู้ตอบเลือกคำตอบได้ 2 ประการคือ “พอใจ” กับ “ไม่พอใจ”  เซตของกระทงคำถามอีกกลุ่มหนึ่งกำหนดลำดับของความรู้สึกเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ “พอใจมาก” “พอใจ” “ไม่ค่อยพอใจ” และ “ไม่พอใจเลย”  จากตัวอย่างที่ยกมา ข้อมูลจากกระทงคำถามทั้งสองกลุ่มมีลักษณะคล้ายกันมาก คือเป็นระดับความรู้สึกของผู้ตอบที่มีต่อบริการของโรงแรม แต่จะเห็นว่ามี ข้อแตกต่างกันที่  คำตอบ ในกลุ่มแรกจะแสดงถึงความแตกต่างของความรู้สึก ส่วนคำตอบในกลุ่มที่สองจะแสดงน้ำหนักของความรู้สึกซึ่งเปรียบเทียบกันในลักษณะมาก - น้อยได้   ดังนั้นข้อมูลจากคำถามกลุ่มแรกจึงจัดเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ และข้อมูลจากคำถามในกลุ่มที่สองเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ
           เนื่องจากการวิจัยทางการบริหารการศึกษาส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ และการบริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์สูงมาก การแสวงหาความรู้ความจริงด้วยการวิจัยการวิจัยของนักบริหารการศึกษาจำเป็นต้องใช้วิธีการนิรนัย (deductive) คือการเริ่มต้นจากหลักการทฤษฎีแล้วไปแสวงหาความรู้ตามหลักการทฤษฎีนั้นกับวิธีการอุปนัย (inductive) คือการแสวงหาความรู้ ความจริงจากปรากฏการณ์ หรือความรู้ย่อยๆแล้วค่อยๆสร้างเป็นหลักการและทฤษฎีขึ้นมา ดังที่กล่าวแล้วว่าศาสตร์ทางการบริหารการศึกษาเกี่ยวข้องกับมนุษย์สูงมาก ดังนั้น ข้อมูลเชิงคุณภาพจึงมีความสำคัญต่อการวิจัยทางการบริหารการศึกษาด้วย

ความแตกต่างสถติเชิงบรรยายกับสถิติเชิงอ้างอิง

สถิติเชิงบรรยายหรือสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) เป็นสถิติวิเคราะห์เบื้องต้นที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ  ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ก็ได้  ผลที่ได้จากการศึกษาไม่สามารถนำไปอ้างอิงถึงกลุ่มประชากร (Population) ได้ เป็นการบรรยายลักษณะของข้อมูลที่รวบรวม โดยสรุปลักษณะที่สำคัญของข้อมูล  ในการนำเสนอสถิติบรรยาย ประกอบด้วย
1. การนำเสนอข้อมูล  โดยสามารถนำเสนอในรูปของตารางแจกแจงความถี่ อาจเป็นแบบทางเดียวหรือหลายทาง  การนำเสนอในรูปแผนภูมิ หรือกราฟ  และการนำเสนอในรูปบทความ อธิบาย เป็นต้น
2. การนำเสนอตัวแทนของข้อมูล ซึ่งเราเรียกว่า การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง โดยทั่วไปจะนำเสนอค่ากลาง 3 ชนิด คือ ค่าเฉลี่ย (mean) ค่ามัธยฐาน (median) และฐานนิยม (mode)
3. การนำเสนอตำแหน่งหรือลำดับของข้อมูล ประกอบด้วยการแสดงตำแหน่งข้อมูลแบบ ค่าควอไทล์ (quartile) เดไซล์ (decile) และเปอร์เซนไตล์ (percentile)
4. การอธิบายการกระจายของข้อมูล ว่ามีการกระจายจากตัวแทนของข้อมูลมากน้อยเพียงใด ได้แก่ ค่าส่วนเบี่ยงเบนเฉลี่ย (mean deviation) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) พิสัย (range) เป็นต้น
5. การอธิบายการแจกแจงความถี่ของข้อมูล ในรูปหลายเหลี่ยมความถี่ (frequency polygon) ฮิสโตแกรม (histogram) โค้งความถี่ (frequency curve) ค่าสัมประสิทธิ์ความเบ้ (skewness) สัมประสิทธิ์ความโด่ง (kurtosis) เป็นต้น
สถิติเชิงอ้างอิงหรือสถิติอนุมาน  (Inferential Statistics) เป็นสถิติที่ศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample) แล้วนำผลสรุปที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง  สรุปอ้างอิงไปยังลักษณะประชากรหรือค่าสถิติ (Statistics) ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างสรุปไปยังค่าพารามิเตอร์ (Parameters) ของประชากร  การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีความสำคัญยิ่งที่ใช้เป็นตัวแทนของประชากร โดยสถิติที่อ้างอิงจะเกี่ยวกับการประมาณค่า (Estimation)  และการทดสอบสมมุติฐาน (Hypothesis Testing) เช่น สถิติที (t-test) ซี (Z-test)การทดสอบค่าไคสแควร์ (Chi-Square Test) การวิเคราะห์ความแปรปรวน(Analysis of Variance : ANOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of Covariance : ANCOVA) สหสัมพันธ์ (Correlation) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอล (Canonical Correlation analysis) การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณ (Multi-variate Analysis of Variance : MANOVA) การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ การวิเคราะห์ข้อมูลโมเดลความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นหรือโมเดลลิสเรล (Linear Structure  RELationship model of LIEREL model) การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) และการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) เป็นต้น

วรรณกรรมในการทำวิจัย

การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มึความสำคัญในการทำวิจัยทุกประเภท
4.1  คำว่า “วรรณกรรม” ในขั้นตอนนี้ หมายความว่าอะไร และมีความสำคัญอย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างของวรรณกรรมมาอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง
           วรรณกรรมตามนัยของกระบวนการวิจัย คือ การสืบค้นหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะสาขาวิชาของผู้วิจัย โดยตัวผู้วิจัยเองที่เสาะแสวงหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบฐานความคิดความรู้ของผู้วิจัย หรือเพื่อนำมาประกอบการเขียนโครงร่างการวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ หรือโครงร่างการวิจัยเพื่อขอทุนทำวิจัย
ในการวิจัยแต่ละเรื่อง “การทบทวนวรรณกรรม” จะปรากฏในบทที่ 2 ของวิทยานิพนธ์ การนำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้วิจัยได้ใช้ความสามารถในการสืบค้น ทบทวนและสำรวจข้อมูลเพื่อนำเสนอว่าในประเด็นหรือหัวข้อที่ผู้วิจัยได้ตัดสินใจเลือกทำวิจัยนั้นมีเรื่องอะไรบ้างที่ได้ทำมาแล้ว ใครเป็นผู้ทำ วิจัยเรื่องนั้นๆ และทำเมื่อใด ผลการศึกษาได้ข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของตนอย่างไร ผู้วิจัยสามารถนำผลที่ได้จากการทบทวนไปใช้ในการสร้างเสริมกรอบแนวความคิดของตนได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์ความรู้” ที่จะนำมาเป็นกรอบความคิดทางทฤษฎี ที่ผู้วิจัยสามารถสืบค้น “ข้อมูล” จากผู้อื่นที่ได้ศึกษามาแล้ว
วรรณกรรมเพื่อการวิจัย แบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. วรรณกรรมช่วยในการสืบค้น (Preliminary Sources) หมายถึง วรรณกรรมที่ช่วยให้ผู้ค้นคว้าสามารถค้นหาหนังสือ บทความ วารสารและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเองทำการวิจัย วรรณกรรมช่วยการสืบค้นมักจะเป็นหนังสือและวัสดุอ้างอิง เช่น พจนานุกรม, สารานุกรม, หนังสือรายปี, อักขรานุกรมชีวประวัติ, นามานุกรม, หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์, สิ่งพิมพ์รัฐบาล, หนังสือคู่มือ, หนังสือดรรชนี ,หนังสือบรรณานุกรม เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีวัสดุอ้างอิงประเภทซีดี-รอม ที่รวบรวมสนเทศเนื้อหาเดียวกับหนังสืออ้างอิงและบันทึกในลักษณะมัลติมีเดีย เช่น Union List of Serial in Thailand, ERIC, CIJE, APA, DAO เป็นต้น
2. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Sources) หมายถึง วรรณกรรมทางการศึกษา ซึ่งผู้เขียนรายงานการวิจัยหรือประสบการณ์ของตนเองในงานทางการศึกษา เช่น
2.1 วารสารทางการศึกษา
-  วารสารทางการศึกษาที่เป็นภาษาไทย
-  วารสารทางการศึกษาโดยทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านการบริหารการศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านหลักสูตรและการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษ
2.2  รายงานการวิจัยทางการศึกษา ที่จัดทำขึ้น โดยบุคลากรในหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งสามารถแบ่งตามแหล่งที่มาได้ 3 ประเภท ดังนี้
2.2.1 รายงานการวิจัย ที่ผลิตโดยอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
2.2.2 วิทยานิพนธ์ เป็นวรรณกรรมปฐมภูมิที่มีแบบอย่างทั้งรูปแบบและเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งผู้ที่ค้นคว้าจะได้ประโยชน์ดังนี้
1) จากการสรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล ทำให้ได้ข้อคิดสำหรับเลือกปัญหาในการวิจัยหรือกำหนดขอบเขตปัญหาการวิจัย
2) จากรายงานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในบทที่ 2 ซึ่งประหยัดเวลาในการค้นคว้าลงได้ส่วนหนึ่ง
3) จากตัวอย่างเครื่องมือที่ปรากฎในภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
4) จากรายการบรรณานุกรมที่อยู่ท้ายเล่มของวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
2.2.3  หนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ตรงทางการศึกษา
3. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Sources) หมายถึงวรรณกรรมทางการศึกษาซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงรายงานสรุปผลงานวิจัยของผู้อื่นโดยที่ผู้เขียนมิได้เป็นผู้ทำการวิจัยในเรื่องนั้นๆโดยตรง เช่น
- ประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษา
- สถิติการศึกษา
- NSSE Yearbooks
- AERA
4.2  นักวิชาการแบ่งแหล่งที่มาของ “วรรณกรรม” ออกได้เป็นกี่แหล่ง อะไรบ้าง จงอธิบายความหมายของแหล่งที่มาของวรรณกรรมแต่ละแหล่ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างแหล่งวรรณกรรมเหล่านั้น มาให้ชัดเจน
          แหล่งที่มาของวรรณกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 3 แหล่งใหญ่ๆคือ
1. แหล่งข้อมูลประเภทเอกสารและรายงาน เช่น
1.1 ตำรา  (Textbooks) ตำราเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่เราคุ้นเคยมากที่สุด  ความรู้ด้านทฤษฎีทั้งหลายเราได้จากการศึกษาค้นคว้าตำรา  
1.2 บทความทางวิชาการ (Review articles)บทความทางวิชาการเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้คล้ายๆ กับ ตำรา แต่ความรู้ต่างๆ ในบทความทางวิชาการจะค่อนข้างทันสมัยมากกว่าตำรา
1.3 รายงานผลการประชุม (Proceeding reports)รายงานผลการประชุมเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่แตกต่างจากตำรา และบทความทางวิชาการ  
1.4 รายงานประจำปี (Year books)รายงานประจำปีเป็นแหล่งข้อมูลที่สรุปผลงานที่เกิดขึ้นจริงในแง่มุมต่างๆ ขององค์กรนั้นๆ จึงเป็นเอกสารอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาศึกษา
1.5 รายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่างๆ (Scientific papers from journals)วารสารเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้หลากหลายประเภท บทความทางวิชาการที่กล่าวมาแล้วก็ได้มาจากวารสาร  ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็อาจได้มาจากวารสาร
1.6 บทคัดย่อการวิจัยในวารสาร (Abstract journal) บทคัดย่อการวิจัยในวารสารก็ต้องยึดหลักเช่นเดียวกับรายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ดังได้กล่าวไว้แล้ว
1.7 วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา (Students dissertation)วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะวิทยานิพนธ์ทุกชิ้นจะต้องมีอาจารย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ควบคุมการทำวิจัย
2. แหล่งข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น
2.1  ฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์และสื่อฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Computer Databases and Electronic Bulletin Boards)
2.2  ฐานข้อมูลบางอย่างเก็บไว้ในซีดีรอม บางส่วนอาจเป็นฐานข้อมูลที่ต้องบอกรับในลักษณะออนไลน์
2.3  ฐานข้อมูลในเครือข่ายสารสนเทศ (UniNet)
3. แหล่งข้อมูลประเภทสถานที่ บุคคลและวัสดุสิ่งของ มีความจำเป็นสำหรับการวิจัยบางประเภทโดยเฉพาะการวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยเชิงมานุษยวิทยา งานวิจัยประวัติศาสตร์ ผู้ที่จะทำวิจัยควรเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆและศึกษากระบวนการวิจัยให้เหมาะสม
4.3  การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นักวิจัยให้น้ำหนักความสำคัญและความน่าเชื่อถือกับวรรณกรรมจากแหล่งใดในข้อ (2) มากที่สุด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จงอธิบายมาให้เข้าใจ
จากการศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นักวิจัยให้น้ำหนักความสำคัญและความน่าเชื่อถือกับวรรณกรรมจากวรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Literature) เช่น บทความวิชาการ (Articles)  และวารสารวิชาการ (Journals) และสารสนเทศที่เกิดจากการค้นคว้าหรือคิดค้นพิสูจน์ หรือทำการวิจัยโดยตรงจากเจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานเป็นผู้เสนอเอง ถือว่าเป็นวรรณกรรมทางการศึกษาที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเพราะ เป็นการสื่อความหมายโดยตรงระหว่างผู้จัดทำผลงานวิจัยนั้นๆกับผู้อ่าน วรรณกรรมปฐมภูมิจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของผุ้ค้นคว้าวรรณกรรมการวิจัยที่จะต้องค้นคว้าไปให้ถึง เพื่อที่จะให้ได้รายละเอียดต่างๆของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของการวิจัยของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นวรรณกรรมปฐมภูมิ  จึงมีความเชื่อถือสูง และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการทบทวนวรรณกรรม

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการวิจัยทางการบริหารการศึกษา

ขั้นตอนแรก การกำหนดปัญหา เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและแนวทางการทำวิจัย รวมทั้งจะทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า ปัญหานั้น สามารถทำวิจัยได้หรือไม่ ประเด็นปัญหานั้นต้องเป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ สำคัญ เป็นไปได้ในการปฏิบัติ มีข้อมูลเพียงพอ ได้รับความร่วมมือจากผู้ตอบ เป็นต้น
ขั้นตอนที่สอง การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยมี 2 ประเภท คือ
1)วัตถุประสงค์ทั่วไป เป็นความมุ่งหมายที่เขียนไว้กว้างๆ
2)วัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นความมุ่งหมายที่เขียนเจาะจงว่าผู้วิจัยต้องการจะทราบคำตอบในเรื่องอะไรบ้าง
งานวิจัยบางงานจะปรากฎวัตถุประสงค์ทั้งสองประเภท และบางงานจะมีเพียงวัตถุประสงค์เดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยและเรื่องที่ศึกษา
ขั้นตอนที่สาม การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยเรื่องนั้นๆ โดยอาศัยแนวความคิดและทฤษฎีที่มีอยู่มากำหนดว่า ตัวแปรต่างๆที่ศึกษามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร ประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้ในแต่ละข้อจะหาคำตอบได้อย่างไร จะใช้วิธีการวิธีการวิจัยประเภทใดจึงจะเหมาะสม และได้คำตอบที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
ขั้นตอนที่สี่ การเขียนสมมติฐาน สมมติฐาน หมายถึง คำตอบที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุมีผลต่อปัญหาที่ศึกษา หรือข้อบ่งบอกถึงการคาดคะเนของความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ทั้งนี้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง เงื่อนไข หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น สมมติฐานที่ใช้ในการวิจัย จำแนกได้ 2 ประเภทคือ 1)สมมติฐานทางการวิจัย เป็นสมมติฐานที่อยู่ในรูปของข้อความ 2) สมมติฐานทางสถิติ เป็นสมมติฐานที่เขียนอยู่ในรูปโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ โดยใช้สัญลักษณ์แทนคุณลักษณะของประชากรหรือพารามิเตอร์ สมมติฐานทั้งสองประเภทมีวิธีการเขียนได้สองแบบคือ สมมติฐานแบบมีทิศทางและสมมติฐานแบบไม่มีทิศทาง และสมมติฐานที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
1)เป็นข้อความที่ระบุคงามสัมพันธ์ที่คาดหวังระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
2)กำหนดขึ้นอย่างมีเหตุผลบนฐานของหลักการและทฤษฎี
3)สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
4)สามารถตอบคำถามได้ครอบคลุมปัญหา
5)สามารถทดสอบได้
6)เขียนได้กะทัดรัด ชัดเจน เข้าใจง่าย
7)เขียนแยกเป็นหลายข้อ แต่ละข้อเป็นการค้นหาคำตอบเพียงประเด็นเดียว
8)เขียนในรูปของประโยคบอกเล่า
9)มีขอบเขตพอเหมาะ ไม่แคบหรือกว้างเกินไป
10)มีความคงที่สำหรับความจริงที่ค้นพบแล้ว
11)มีอำนาจในการพยากรณ์สูง
ตัวแปร หมายถึง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของสิ่งต่างๆที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ ที่มีค่าเปลี่ยนแปลงได้ ไม่คงที่ ค่าที่เปลียนแปลงนี้อาจอยู่ในรูปของตัวเลขหรือข้อความก็ได้
การจัดประเภทตัวแปรที่นิยมมี 2 แบบ ได้แก่
1)การจัดประเภทตามระดับการวัด 4 ระดับ ดังนี้
-มาตรวัดแบบจัดกลุ่ม (Nominal Scale)
-มาตรวัดแบบจัดอันดับ (Ordinal Scale)
-มาตรวัดแบบช่วง (Interval Scale)
-มาตรวัดแบบอัตราส่วน (Ratio Scale)
2)การจัดประเภทตามความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัว ดังนี้
-ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) เป็นตัวแปรที่มาก่อน ที่ส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อตัวแปรอื่น บางครั้งเรียกว่าตัวแปรต้น
-ตัวแปรตาม (Dependent Variable) เป็นตัวแปรผลที่มาจากตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือตัวแปรที่วัดได้จากการทดลอง
ขั้นตอนที่ห้า การนิยามศัพท์ เป็นการให้ความหมายเฉพาะแก่คำศัพท์ กลุ่มคำ หรือวลีที่ใช้ในการวิจัย เพื่อทำความเข้าใจหรือสื่อความหมายให้ผู้อ่านได้เข้าใจตรงกับผู้เขียน วิธีการเขียนนิยามศัพท์ สามารถทำได้ 3 ลักษณะคือ การนิยามเชิงแนวความคิด, การนิยามเชิงทฤษฎีและการนิยามเชิงปฏิบัติการ
ขั้นตอนที่หก การเลือกเอกสารหรือวรรณกรรม หมายถึง ผลงานเขียนทางวิชาการที่มีการจัดทำหรือจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อคอมพิวเตอร์ หรือสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆซึ่งมีแหล่งที่มา 3 ประเภท คือ เอกสารอ้างอิงทั่วไป, เอกสารปฐมภูมิและเอกสารทุติยภูมิ โดยการเลือกเอกสารเหล่านี้ ผู้วิจัยควรคำนึงถึง
1)ความทันสมัย เหมาะสมในการอ้างอิง
2)เป็นเครื่องชี้นำในการศึกษาข้อมูลของผู้วิจัย
3)มีหนังสืออ้างอิงเพียงพอที่จะเป็นแนวทางการศึกษาค้าคว้าเพิ่มเติม
4)เสนอแนวคิดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัย

ความแตกต่างของการวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ และการวิจัยเชิงอนาคต

การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา พิจารณาจากวิธีดำเนินการทางวิจัย นิยมใช้การวิจัยประเภท การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ และการวิจัยเชิงอนาคต ตามลำดับ
การวิจัยเชิงสำรวจ
การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการศึกษาลักษณะความเป็นจริงตามสภาพในเรื่องต่างๆที่ต้องการศึกษาโดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลเพื่อจัดทำรายงานนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำไปวิเคราะห์หาแนวทางในการวางแผนและปรับปรุงสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
1. การศึกษาองค์ประกอบเป็นการสำรวจกลุ่มประชากรที่ผู้วิจัยสนใจจะศึกษาให้ทราบถึงองค์ประกอบของกลุ่มประชากรในด้านต่างๆ ว่ามีด้านใดบ้างที่ทำให้กลุ่มประชากรเป็นเช่นนั้น
2. การศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาองค์ประกอบ เป็นการสำรวจสภาพและปรากฎการณ์ภายในสถานศึกษาและศึกษาความแตกต่างระหว่างตัวแปรที่ต้องการเปรียบเทียบ
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1.เพื่อศึกษา ...............(ตัวแปรตาม).............
2.เพื่อเปรียบเทียบ .............(ตัวแปรตาม) ............จำแนกตาม ............ ตัวแปรอิสระ
3.เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ .............

การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เป็นการศึกาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปรขึ้นไป ผลการศึกษาจะทำให้ผู้วิจัยเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆได้ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ
1. การศึกษาสหสัมพันธ์ เป็นวิธีการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยการคำนวณหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพื่อดูขนาดและทิศทางของความสัมพันธ์เท่านั้น
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1) เพื่อศึกษา .............(ตัวแปรทั้ง 2 ตัว)...........
2) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง .......ตัวแปรที่ 1 ............กับ ................. ตัวแปรที่ 2...........
3) เพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง ........ตัวแปรที่ 1 .......กับ .......... ตัวแปรที่ 2....... จำแนกตามตัวแปรอิสระ
4) เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ .........
2. การศึกษาทำนายตัวแปรการศึกษาสหสัมพันธ์ เป็นการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของตัวแปรอิสระต่างๆ ที่ทำให้เกิดตัวแปรผลหรือตัวแปรตาม โดยศึกษาปรากฏหารณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการได้
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อศึกษา ........ตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม ........
2)เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ........ตัวแปรอิสระ ......กับ .......ตัวแปรอิสระ .........
3)เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง .....ตัวแปรอิสระ ......กับ ...... ตัวแปรตาม .......
4)เพื่อค้นหา ........ตัวแปรอิสระ ........ที่ใช้เป็นตัวพยากรณ์ .......ตัวแปรตาม ........
5)เพื่อสร้างสมการพยากรณ์ .......ตัวแปรตาม ...........

การวิจัยเชิงอนาคต
การวิจัยเชิงอนาคต เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงเพื่อคาดคะเนหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตโดยมุ่งเน้นเวลาในอนาคตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.เทคนิคกการฉายภาพอนาคต เป็นการพยากรณ์อนาคตแบบเส้นตรง เหมาะสำหรับการพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบน้อยตัว มีประโยชน์ที่ช่วยให้ทราบสาเหตุของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต ข้อเสียคือ การจำกัดขอบเขตตัวแปรแคบและไม่มีทางเลือก
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อศึกษาวิธีการคาดคะเน ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2)เพื่อศึกษาแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
3)เพื่อคาดประมาณ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
4)เพื่อหาแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2.เทคนิคเดลฟาย เป็นการพยากรณ์โดยใช้ตัวเลขและแผนภูมิด้วยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่กระจัดกระจายให้สอดคล้องกันอย่างมีระบบ สื่อของการแสดงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ในรูปของแบบสอบถามและต้องสอบถามประมาณ 3-4 รอบ ในแต่ละรอบจะต้องมีการสรุปความคิดเห็นของกลุ่มในรอบที่ผ่านมาให้ทราบด้วย
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อทราบแนวโน้มของ ..... ตัวแปรที่ศึกษา ......... ในอนาคต
2)เพื่อศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา ......... ในอีก ..............จำนวน ........ปีข้างหน้า
3.เทคนิค EFR (Ethnographic Future Research) เป็นการสร้างภาพอนาคตโดยการศึกษาหรือคาดการณ์แนวทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในอนาคต เทคนิคนี้เป็นกระบวนการพัฒนาวิธีการจากการฉายภาพอนาคตและการพยากรณ์มาเป็นการวิจัยทางมนุษยวิทยาที่เรียกว่าชาติพันธุ์วรรณา การสร้างภาพอนาคตตามแนว EFR เป็นการเล่าเรื่องราวในอนาคตเป็น 2 ประเด็น คือ สิ่งต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไร การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องด้วยคำถามปลายเปิดและไม่ชี้นำ และสรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ด้วย 4 ขั้นตอน คือ
3.1การบรรยายสรุปการแจกแจงแนวความคิดที่เป็นความเห็นร่วมกันของผุ้ให้สัมภาษณ์
3.2การวิเคราะห์ค้นหาและตรวจสอบคำอธิบายกรณีที่แนวความคิดขัดแย้งกัน
3.3การตีความเพื่อหาความสัมพันธ์ของแนวคิดในรายงานการสัมภาษณ์กับระบบสังคมปัจจุบัน
3.4การวินิจฉัยเพื่อแสวงหาแนวทางไปสู่การแก้ปัญหา การป้องกันอันตรายและการขัดแย้งที่มีอยู่ในรายงานการสัมภาษณ์
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อหารูปแบบ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2)เพื่อนำเสนอรูปแบบ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
3)เพื่อศึกษา ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........ในอนาคต
ประเภทการวิจัยทั้ง 3 ลักษณะ มีรูปแบบการศึกษาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การเขียนวัตถุประสงค์ สมมติฐานการวิจัย กรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษาและการวิเคราห์ข้อมูล การศึกษาตัวอย่างของประเภทการวิจัยทั้ง 3 ลักษณะจะทำให้เกิดแนวคิดและเห็นความแตกต่างของทั้ง 3 ลักษณะอย่างชัดเจน เป็นประโยชน์ในการเลือกทำวิจัยได้ตรงกับปัญหาการวิจัยที่ต้องการศึกษา

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยและพัฒนาทางการบริหาร

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) หรือ การวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยเชิงปฏิบัติการหรือการวิจัยในชั้นเรียน หมายถึง การวิจัยที่เน้นการนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือพัฒนางานในหน้าที่เป็นเรื่องๆ ผู้วิจัยเป็นผู้กำหนดกิจกรรมแล้วนำกิจกรรมนั้นมาทดลองปฏิบัติและดูผล แล้วนำผลมาปรับปรุงแก้ไขและนำไปทดลองใหม่จนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจจึงจะนำผลนั้นไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่

          ประโยชน์ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (วิจัยในชั้นเรียน)
1. ครูมีความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแก้ปัญหาในชั้นเรียนได้ทันท่วงที สามารถใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติ,เพิ่มพูนปริมาณของการเรียนรู้อย่างจริงจังจากประสบการณ์ของตนเองและนำผลวิจัยไปทำผลงานวิชาการได้
2. ผู้บริหารหรือหน่วยงานมีข้อมูลสำหรับใช้ปรับปรุงพัฒนางานอย่างเป็นระบบ และมีแนวทางในการดำเนินงานหรือกำหนดมาตรฐานต่างๆในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมทำให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
          3. วิจัยเชิงปฏิบัติการโดยปกติเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม แสดงว่ามีการร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ต่างฝ่ายต่างก็พึงพอใจต่อการมีส่วนร่วม ทำให้ผลการปฏิบัติดีขึ้น ส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์

รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นรูปแบบที่ใช้กระบวนการดำเนินงานเปรียบเสมือนวัฎจักรของเดมมิ่ง หรือวงจร PDCA (Plan, Do, Check, Act) โดยมีกระบวนการวิจัยดังนี้ กำหนดปัญหา, วางแผนแก้ปัญหา(P), ดำเนินการแก้ปัญหา(D), วิเคราะห์/สรุปข้อมูลหาทางแก้ไขปรับปรุง(C), ทดลองใช้(A), สรุปและสะท้อนผล(A), สรุปผลการวิจัย, จัดทำรายงานการวิจัย
การวิจัยและพัฒนา (Research and Development)
          การวิจัยและพัฒนา หมายถึง การวิจัยที่เน้นกระบวนการที่นำไปใช้พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทางการศึกษา ลักษณะการวิจัยประเภทนี้จะเป็นการนำผลผลิตที่ได้จากการวิจัยพื้นฐานหรือวิจัยประยุกต์มาพัฒนาหรือสร้างให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ
รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา
รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ  โดยแต่ละประเภทมีธรรมชาติและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาโจทย์วิจัยของงานทั้ง 4  ลักษณะนี้จึงแตกต่างกัน  คือ
1. งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการวิจัยที่มีการตั้งโจทย์การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง
2. งานวิจัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาว เป็นงานวิจัยที่เตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
3. งานวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเป็นการวิจัยเพื่อให้ได้ทางเลือกใหม่ในการพัฒนา
4. งานขยายผลการวิจัย เป็นกระบวนการจัดการปลายทางเพื่อหาข้อมูลบางประการหรือสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ผลงานที่ได้จากการวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
ประโยชน์ในการทำวิจัยประเภทวิจัยและพัฒนา
1.    ผู้บริหารสถานศึกษามีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในศักยภาพของสถานศึกษาและสามารถบริหารงานสถานศึกษาไปสู่คุณภาพที่กำหนดไว้
2.    ครูผู้สอนมีความมั่นใจ เปิดใจกว้างในการรับรู้นวัตกรรม แนวทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆในสถานศึกษาและมุ่งเน้นการปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาของผู้เรียน ทำให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
3.    ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพและบรรลุตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
          รูปแบบของการวิจัยและพัฒนา เป็นรูปแบบที่ใช้กระบวนการดำเนินงานเช่นเดียวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ  วัฎจักรของเดมมิ่ง (PDCA) และเป็นการวิจัยที่เชื่อมโยงกระบวนการวิจัยให้เข้ากับกระบวนการพัฒนา เป็นการศึกษาองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารและจัดการศึกษาโดยมีกระบวนการวิจัยดังนี้ การวางแผนปฎิบัติการ(P), การลงมือปฏิบัติ(D), การตรวจสอบหรือการประเมินผล(C), การนำผลการประเมินไปสู่การปรับปรุงพัฒนา(A) โดยวางแผนปรับเปลี่ยนหาแนวทางที่เหมาะสมและเริ่มต้นที่การวางแผนแล้วจึงนำไปปฏิบัติใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์การบริหาร

ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน
          โรงเรียนบ้านปะหละทะ ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน ปะหละทะ หมู่ที่ 1  ตำบลแม่ละมุ้ง  อำเภออุ้มผาง  จังหวัดตาก  ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2500 โดยมีนายทวี จาดดี เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทำการก่อกวนรอบๆหมู่บ้านทำให้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของครู ทางจังหวัดตาก จึงได้สั่งปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวและได้เปิดทำการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2527 โดยได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีนายวิมุต จันเปียง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

คำขวัญ
          เรียนดี มีวินัย ใจอดทน ผลงานเด่น

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน


การเดินทาง
โรงเรียนบ้านปะหละทะ อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 26 กม. ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นระยะทาง 193 กม. สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ ไม่มีรถโดยสารประจำทาง
การติดต่อสื่อสาร
1.       โทรศัพท์ผ่านจานดาวเทียม ของโครงการ MOE net ผ่านหมายเลข 055560159 (ไม่มีคู่สายขององค์การโทรศัพท์ และไม่มีคลื่นโทรศัพท์มือถือ)
2.       วิทยุ คลื่นความถี่ 147.400 นามเรียกขาน ปะหละทะ
3.       เว็บไซท์ : http://banpalata.blogspot.com
4.       อีเมล์ : banpalata@gmail.com , palata_school@hotmail.com

ตารางแสดงจำนวนครู
ลำดับ
ชื่อ – นามสกุล
ตำแหน่ง
การศึกษา
ประจำชั้น
1
นายวิมุต  จันเปียง
ผู้อำนวยการ
ปริญญาโท (บริหาร)
-
2
นายเฉลิมชัย  จินะ
ครู คศ.1
ปริญญาโท (บริหาร)
ประถมศึกษาปีที่ 1
3
นางสาวรุจิรา เรือนเหมย
ครู คศ.1
ปริญญาโท (เทคโนโลยีทางการศึกษา)
มัธยมศึกษาปีที่ 3
4
นางสาวจุฬารัตน์ แสนเมืองอินทร์
ครู คศ.1
ปริญญาตรี (เคมี)
มัธยมศึกษาปีที่ 1
5
นายสุรชัย ไทยสาย
ครู คศ.1
ปริญญาตรี (ภาษาไทย)
มัธยมศึกษาปีที่ 2
6
นายอนุสรณ์  องอาจ
ครูผู้ช่วย
ปริญญาโท (บริหาร)
มัธยมศึกษาปีที่ 3
7
นางสาวเบญจรัตน์  สีลาดี
ครูผู้ช่วย
ปริญญาตรี (ภาษาอังกฤษ)
ประถมศึกษาปีที่ 4
8
นางสาวอรุณนี  บุญตั้ง
ครูผู้ช่วย
ปริญญาโท (บริหาร)
ประถมศึกษาปีที่ 2
9
นางสาวดวงพร ทิพกนก
ครูผู้ช่วย
ปริญญาตรี (คณิตศาสตร์)
ประถมศึกษาปีที่ 6
10
นางสุกันยา กันทวงษ์
พนักงานราชการ
ปริญญาตรี (เทคโนโลยีการเกษตร)
ประถมศึกษาปีที่ 3
11
นางสาววีระวรรณ จันเปียง
พนักงานราชการ
ปริญญาตรี (การท่องเที่ยว)
-
12
นางสายสวาท หมูมา
อัตราจ้าง
ปริญญาตรี (คณิตศาสตร์)
ประถมศึกษาปีที่ 5
12
นางปริศนา ไทยสาย
ครูจ้างสอน
อนุปริญญา (พยาบาล)
-
13
นางสาวสิริกานต์ ศรีโสภาบุปผา
ครูช่วยสอน
ม.6
ประถมศึกษาปีที่ 1
14
นางสาวแสงจันทร์  ชิตนภากาศ
ครูช่วยสอน
ม.6
ประถมศึกษาปีที่ 2
15
นายอร่าม  นันทะใจ
นักบริการ
ม.6
-

ในปีการศึกษา 2554 โรงเรียนบ้านปะหละทะ มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 15 คนแบ่งเป็นชาย 5 คน หญิง 10 คน ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ 1 คน ข้าราชการครู 8 คน พนักงานราชการ 2 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน ครูจ้างสอน 1 คน ครูช่วยสอน 2 คน และนักบริการจำนวน 1 คน
ปีการศึกษา 2554 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 270 คน แบ่งเป็น ชั้นประถมศึกษา จำนวน 200 คน ชาย 108 คน หญิง 92 คน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จำนวน 70 คน  ชาย 32 คน หญิง 38 คน
โรงเรียนบ้านปะหละทะมีเขตพื้นที่บริการ จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านปะหละทะ หมู่บ้านเซปะหละ  (4 กม.) หมู่บ้านป่าพลู (23 กม.) และหมู่บ้านแม่ละมุ้งคี (28 กม.) ประชากรเป็นขาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง 100 เปอร์เซ็นต์ ประชากรในหมู่บ้านมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ข้าว ข้าวโพด ฟักทอง

ตารางสรุปจำนวนนักเรียนโรงเรียนบ้านปะหละทะ
ปีการศึกษา 2554
ชั้น
ชาย
หญิง
รวม
ป.1
17
19
36
ป.2
23
10
33
ป.3
20
17
37
ป.4
21
16
37
ป.5
12
16
28
ป.6
15
14
29
รวมประถม
108
92
200
ม.1
9
12
21
ม.2
14
8
22
ม.3
9
18
27
รวมมัธยม
32
38
70
รวมทั้งหมด
140
131
270

 











  วิเคราะห์การบริหารงานโรงเรียน
โรงเรียนบ้านปะหละทะตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล อีกทั้งมีระยะทางที่คดเคี้ยวเต็มไปด้วยหุบเขาและหน้าผาตลอดระยะทาง 1,219 โค้ง ในระยะทาง 193 กิโลเมตร แต่กลับใช้เวลาในการเดินทางไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง (สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยเส้นทาง) ซึ่งทั้งอันตรายและยากลำบากในการเดินทาง ประกอบกับการติดต่อสื่อสารค่อนข้างลำบาก เนื่องจากไม่มีคู่สายโทรศัพท์ และคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หมายเลขโทรศัพท์ที่โรงเรียนได้รับจัดสรรมาจากโครงการ MOE net ซึ่งเป็นเบอร์โทรศัพท์จากจานดาวเทียม พร้อมกับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีปัญหาในเรื่องสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาฝนฟ้าคะนอง หากไฟฟ้าดับ ก็จะขาดการติดต่อจากโลกภายนอก ซึ่งจะเป็นลักษณะนี้บ่อยครั้ง ทางโรงเรียนจึงมีการนำวิทยุสื่อสาร เข้ามาใช้ในโรงเรียน อย่างน้อยหากไฟฟ้าดับ ไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางอื่นได้ ก็จะใช้วิทยุสื่อสาร ในการติดต่อกับโรงเรียนอื่นๆได้ และจากการที่มีข้อจำกัดด้านปัจจัยพื้นฐาน ข้าราชการครูที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนเมื่ออยู่ครบการประเมินครูผู้ช่วย 2 ปี ก็จะย้ายกลับภูมิลำเนา ทำให้อัตราการย้ายออกมีสูง และยากต่อการพัฒนาการเรียนการสอนและบริหารงานให้ต่อเนื่อง
จากจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบ้านปะหละทะ ทั้งสิ้น 15 คน เป็นคนในพื้นที่จำนวน 8 คน การแบ่งงานหรือการมอบหมายงานให้ครูรับผิดชอบ ผู้บริหารจะคำนึงถึงคนในพื้นที่ให้เป็นหลักส่วนคนอื่นๆจะรองลงมา รวมไปถึงการมอบหมายงานพิเศษอื่นๆผู้บริหารจะถามความสมัครใจของผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ประชุมก่อนว่า รับผิดชอบได้หรือเปล่า หากได้ ก็จะทำการมอบหมายงาน และหากไม่ได้ ก็จะให้ที่ประชุมเสนอบุคคลที่เหมาะสมอื่นๆซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายก็จะทำหน้าที่ของตนเอง ตามที่ได้รับมอบหมาย ตามความสมัครใจเป็นหลัก หากเสนอกันไม่ลงตัว ผู้บริหารก็จะเป็นคนตัดสินใจ สั่งการมอบหมายหน้าที่ตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร และการทำงานในแต่ละครั้ง หากผู้บริหาร ต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานอะไร ก็จะบอกให้ทำชิ้นงานนั้นเลย โดยที่ผู้บริหารจะไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือตรวจสอบการทำงาน จะดูเพียงแต่ผลผลิตของงานที่เสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น เช่น กรณีที่จะมีผู้เข้ามาประเมินโรงเรียน ผู้บริหารก็จะมอบหมายให้ครูทำสไลด์ หรือวิดีทัศน์นำเสนอโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะมาประเมิน ผู้บริหารจะให้อิสระในการนำเสนอแนวคิดหรือวิธีการที่จะนำเสนอ
ในกรณีที่ผู้บริหาร ได้รับทราบข่าวที่เป็นประโยชน์ของคณะครู ที่ต้องการมีความมั่นคงในหน้าที่การงานเกี่ยวกับการสอบบรรจุครู ที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งมา ผู้บริหารก็จะนำข่าวสารที่ได้รับมาแจ้งให้ทราบในที่ประชุมและให้พนักงานราชการ หรือครูอัตราจ้าง เตรียมตัวอ่านหนังสือ และให้ครูประจำการช่วยชี้แนะแนวทางในการอ่านหนังสือ ทำข้อสอบ หรือทำแฟ้มผลงานให้กับคณะครูดังกล่าว และบางครั้ง ผู้บริหารก็จะให้คณะครูได้หยุดพักอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ เพื่อที่จะไปทำการสอบ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องห่วงเรื่องงานการสอน
โรงเรียนบ้านปะหละทะมีพื้นที่โรงเรียนกว่า 30 ไร่ และแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองฝั่งถนน โดยฝั่งหนึ่งจะเป็นพื้นที่ที่เป็นอาคารเรียน อาคารประกอบอื่นๆ และเนื่องจากบริเวณโรงเรียนเป็นพื้นที่ราบ อยู่ใกล้ธรรมชาติ ด้านหลังเป็นทุ่งนาและภูเขา ภายในบริเวณโรงเรียนก็จะมีความร่มรื่นจากต้นไม้ที่นักเรียนช่วยกันปลูกในแต่ละปี ทั้งไม้ดอก ไม้ผล ภูมิทัศน์ของโรงเรียนมีความสวยงาม เป็นที่ชื่นชมของบุคคลที่เข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียน ส่วนอีกฝั่งของถนน จะเป็นบริเวณบ้านพักครู โดยบ้านพักครู ที่ได้รับจัดสรรจากงบประมาณส่วนกลาง จำนวน 3 หลัง และที่สร้างโดยใช้วัสดุท้องถิ่นภายในหมู่บ้านอีก 2 หลัง ซึ่งเพียงพอกับจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งบ้านพักแต่ละหลังผู้บริหารจะทำการปรับปรุงให้ใช้การได้ดีอยู่เสมอ โดยให้นักบริการ เข้ามาช่วยดูแลซ่อมแซมให้ โดยคณะครูไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และในแต่ละเดือน ผู้บริหารก็ให้มีการจัดเลี้ยงของแต่ละบ้าน โดยบ้านแต่ละหลังจะทำกับข้าวมา 1 หรือ 2 อย่าง แล้วแต่ความสมัครใจ แล้วมารับประทานอาหารร่วมกัน ที่บ้านหลังใดหลังหนึ่ง สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนครบปีการศึกษา โดยเริ่มที่บ้านผู้บริหารเป็นหลังแรก เพื่อให้คณะครูได้พบปะสังสรรค์พูดคุยนอกเวลาราชการ
           ผู้บริหารเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำงาน คือเข้ามาทำงาน ตรวจหนังสือเข้า เดินสำรวจ ตรวจตราโรงเรียนตอนเช้า โดยจะเข้ามาโรงเรียนประมาณ 7.00 น. เมื่อคณะครูเห็นว่า ผู้บริหารเข้ามาทำงานเช้า ผู้ใต้บังคับบัญชาก็เข้ามาทำงานเช้าตามไปด้วย

ทฤษฎีที่ใช้ในการเป็นกรอบแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์
วอน  ฮัลเลอร์ บี.กิลเมอร์  (Von Haller B. Gilmer)  สรุปองค์ประกอบที่เอื้ออำนวยต่อความพอใจในการทำงานไว้ 10 ประการ ดังนี้
1.    ความมั่นคงปลอดภัย ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน เช่น การประกันสุขภาพ  อุบัติเหตุ  และชีวิต การเก็บสะสมเงิน การให้บำเหน็จบำนาญ เมื่อเกษียณอายุ การมีงานทำไม่ตกงาน เป็นต้น
2.    โอกาสก้าวหน้าในการทำงาน ได้แก่ การมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจากความรู้ความสามารถในการทำงานเป็นต้น
3.    สถานที่ทำงานและการจัดการ ได้แก่ ความพอใจต่อสถานที่ทำงาน ตลอดจนชื่อเสียงและการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆ
4.    ค่าจ้าง สำหรับค่าจ้างหรือรางวัลนั้นต้องมีความเสมอภาค สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้ปฏิบัติงานและมีลักษณะจูงใจทั้งภายในและภายนอก
5.    ลักษณะของงานน่าสนใจ เช่น งานที่มีความเป็นอิสระ งานที่ไม่จำเจ น่าเบื่อ งานที่ท้าทายความสามารถ เป็นต้น
6.    การควบคุมบังคับบัญชา การควบคุมบังคมบัญชาที่ไม่ดีอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนย้ายงานและลาออกจากงานได้
7.    ลักษณะทางสังคม ถ้าผู้ปฏิบัติงานทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขก็จะเกิดความพอใจในงานนั้น
8.    การติดต่อสื่อสาร การปฏิบัติงานในทุกระดับที่จะได้ผลดีนั้นต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นการจูงใจต่าง ๆ ก็ต้องใช้การติดต่อสื่อสารที่ดี
9.    สภาพการทำงาน เช่น แสง เสียง อากาศ ชั่วโมงทำงาน ต้องมีความเหมาะสมกับงานนั้น ๆ
10.   สิ่งตอบแทนหรือประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ เช่น เงินบำเหน็จตอบแทน เมื่อออกจากงาน การบริการรักษาพยาบาล สวัสดิการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ทฤษฎีระดับความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs Theory)  Abraham Maslow (1943) เชื่อว่าบุคคลจะถูกจูงใจด้วยความต้องการ ซึ่งเป็นไปตามลำดับ 5 ขั้น คือ
ลำดับที่1 ความต้องการทางร่างกาย ( Physiological needs) เป็นความต้องการเกี่ยวกับ อาหาร น้ำ การนอนหลับ และสิ่งอื่นๆที่จะใช้ตอบสนองความต้องการด้านร่างกาย ความต้องการนี้เป็นความต้องการพื้นฐานขั้นแรกของมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้มีชีวิตรอดอยู่ ทำให้มนุษย์จำต้องใฝ่หาสิ่งเหล่านี้มาตอบสนองก่อนสิ่งอื่นใด เมื่อได้รับการตอบสนองในระดับนี้แล้ว มนุษย์จึงจะมีความต้องการในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นด้านที่เกี่ยวกับจิตใจหรือความนึกคิด
ลำดับที่ 2 ความต้องการด้านความปลอดภัย หรือความมั่นคง ( Security or Safety Needs) ภายหลังจากการที่ร่างกายได้รับการตอบสนอง มนุษย์ก็จะเริ่มคิดถึงเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง เช่นรู้สึกว่าการงานอาชีพของตนมีความมั่นคง การมีรายได้ที่แน่นอน มีที่อยู่อาศัยของตนเอง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
ลำดับที่ 3 ความต้องการทางสังคม หรือความต้องการความเป็นเจ้าของและความรัก  ( Social or Belonging and love needs) ภายหลังจากได้รับการตอบสนองในสองขั้นดังกล่าวแล้ว มนุษย์จะมีความต้องการที่สูงขึ้นคือ ความต้องการด้านสังคม เป็นความต้องการที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรต่างๆ อยากคบหาสมาคมกับบุคคลอื่น ต้องการมิตรภาพและความเห็นใจจากกลุ่ม ต้องการให้เป็นที่ต้องการของกลุ่ม บุคคลจะทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ให้เป็นผู้มีความสำคัญ มีบุคคลต่าง ๆ รักใคร่ชอบพอตน เป็นความต้องการด้านจิตใจ
ลำดับที่ 4 ความต้องการ การยกย่อง ยอมรับนับถือ หรือมีฐานะเด่นในสังคม (Esteem or Status needs) เป็นความต้องการที่ประกอบด้วย ความมั่นใจในตนเอง ความสามารถ ความรู้ และความสำคัญในตัวเอง รวมทั้งต้องการมีฐานะเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น อยากให้บุคคลอื่นสรรเสริญนับถือ เช่นการมีตำแหน่งสูงๆ เป็นต้น
ลำดับที่ 5 ความต้องการที่จะได้รับความสำเร็จสมหวัง ( Self- actualization needs) เป็นลำดับขั้นความต้องการสูงสุดของมนุษย์  คือความต้องการที่อยากจะสำเร็จทุกสิ่งทุกอย่างตามความนึกคิด ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในชีวิตครอบครัว ฐานะเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ ทฤษฎีนี้ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป ไม่ได้เน้นเฉพาะพฤติกรรมในงานหรือในองค์กร ( Huber:1996,362) นักพฤติกรรมศาสตร์มีความเห็นว่าทฤษฎีของมาสโลว์ ยังมีจุดอ่อนอยู่ กล่าวคือ พฤติกรรมที่แสดงออกของแต่ละคนไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมีสาเหตุจากความต้องการอย่างเดียวกัน ความต้องการของคนไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คนอาจมีความต้องการไม่ครบทั้ง 5 ด้านก็ได้ คนอาจมีความต้องการหลายๆระดับในเวลาเดียวกันได้ อย่างไรก็ดีทฤษฎีนี้ก็มีประโยชน์ต่อการบริหาร โดยชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีความต้องการ หากผู้บริหารทราบความต้องการของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ก็จะสามารถจูงใจให้ปฏิบัติตามที่ผู้บริหารต้องการได้ (ไพลิน ผ่องใส : 2536)
ทฤษฎีการจูงใจของแมคเกรเกอร์ (McGregor Theory X and theory Y )
แมคเกรเกอร์ (1960) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารของ  MIT( Massachusetts Institute of Technology) สหรัฐอเมริกา ได้ให้แนวความคิดการบริหารงานของผู้บริหารที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาว่า การที่ผู้บริหารจะใช้พฤติกรรมการบริหารลักษณะใด หรือใช้การจูงใจประเภทใดนั้นขึ้นกับว่าผู้บริหารมีความเชื่อว่าผู้ปฏิบัติงานเป็นคนในทฤษฎี X หรือ Y ผู้บริหารที่เชื่อในทฤษฎี X จะใช้การจูงใจแบบนิเสธ ส่วนผู้บริหารที่เชื่อในทฤษฎี Y จะใช้วิธีการจูงใจแบบนิมาน
      ทฤษฎี X เชื่อว่าคนมีลักษณะดังนี้
·       คนทั่วไปไม่ชอบทำงาน ถ้ามีโอกาสจะหลีกเลี่ยงงาน
·       ต้องใช้การบังคับ ควบคุม ขู่เข็ญและลงโทษเพื่อให้ทำงานตามต้องการ
·       ชอบเป็นผู้ตาม ต้องคอยชี้แนะแนวทางการทำงาน มีความทะเยอทะยานน้อย ขอเพียงแต่ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในการทำงานก็พอใจแล้ว
พฤติกรรมการบริหารของผู้นำจะเป็นไปตามความเชื่อ คือ ใช้วิธีควบคุมงานใกล้ชิด คอยแต่จะจับผิด และไม่ให้ทั้งเสรีภาพและโอกาส
ทฤษฎี Y เชื่อว่าคนมีลักษณะดังนี้
·       มีความรับผิดชอบในการทำงานเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ
·       ชอบเป็นตัวของตัวเอง ชอบควบคุมตนเองในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ
·       มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามรถและเฉลียวฉลาด
พฤติกรรมการบริหารของผู้นำจะเป็น ให้เสรีภาพแก่ผู้ทำงาน ให้โอกาสทดลอง ริเริ่มและทำงานด้วยตนเอง ควบคุมอยู่ห่างๆ
McGregor ให้ข้อเสนอแนะว่า ในการจูงใจคนให้ทำงาน ผู้บริหารต้องยอมรับทฤษฎี Y ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นของเขาได้ โดยการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ใช้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ และมีอิสเสรีมากขึ้น สามารใช้ความรู้ความสามารถที่มีได้อย่างเต็มที่ และมีการควบคุมทางอ้อม การใช้ทฤษฎีนี้จะเปิดโอกาสให้มีการจูงใจคนได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่า ซึ่งผลที่ตามมาคือการให้บริการแก่ผู้รับบริการดีขึ้น มากขึ้น ทำให้สังคมมีการตอบสนองที่ดีต่อองค์กร