แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ภาวะผู้นำ

ความหมายของผู้นำ
          สมพงษ์ เกษมสิน (2519)  การที่ผู้นำใช้อิทธิพลและอำนาจหน้าที่ในความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ต่างๆเพื่อปฏิบัติและอำนวยการ
ฟาริดา  อิบราฮิม (2537) เป็นการใช้อำนาจกับผู้อื่นให้เกิดการปฏิบัติเพื่อความริเริ่มของกลุ่ม เกิดผลงานตามเป้าหมาย
          พนิดา ดามาพงษ์ (2535) ให้ความหมายของผู้นำว่ามีหลายแบบ คือ
1. เป็นศิลปในการทำให้ผู้อื่นยอมตาม ทำให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจเชื่อฟังภักดีและเกิดความร่วมมือ
2. เป็นการใช้อิทธิพลทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดความร่วมมือไปสู่จุดมุ่งหมาย
3. เป็นรูปแบบของการชักจูงใจให้ยอมทำตามโดยสมัครใจหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ยอมรับ
4. เป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์มีการกระตุ้นซึ่งกันและกันเพื่อไปสู่อุดมการณ์เดียวกันด้วยความสมัครใจ  ซึ่งความเป็นผู้นำเป็นความสามารถของบุคคลที่ทำให้ผู้อื่นยอมทำตามด้วยความสมัครใจเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกัน
Hersey  and  Blanchard  (1993)  ให้ความหมายว่า เป็นกระบวนการที่ใช้อิทธิพลให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลพยายามปฏิบัติงานในหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายภายใต้สถานการณ์ที่กำหนดไว้
          Greenberg  and  Baron (1995) กล่าวว่า เป็นความสามารถที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกภายในกลุ่ม  ทำให้บรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้     ซึ่งแหล่งที่มาของอิทธิพลมาจากตำแหน่งหน้าที่ภายในองค์การหรือภายนอกองค์การ
          สรุปได้ว่าภาวะผู้นำ   เป็นความสามารถด้านอิทธิพลต่อบุคคลในกลุ่มเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย  ใช้กระบวนการสั่งการ  การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การมีปฎิสัมพันธ์ โดยถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ  ดังนั้นอาจกล่าว ได้ว่าภาวะผู้นำเป็นการมีปฎิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งของกระบวนการ 3 อย่าง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีอิทธิพลต่อกัน  ได้แก่ ผู้นำ  (Leaders) ผู้ตาม  (Follows) และสถานการณ์ (Situations) อันนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
ผู้นำจึงต้องมีทักษะ (Skill)   เป็นความชำนาญของบุคคลในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ (ไขแสง , 2536)
1. ความสามารถพื้นฐานเกี่ยวกับ ความรู้ ทัศนคติ และทักษะเฉพาะพฤติกรรม เพื่อสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ผู้นำต้องเผชิญ ประกอบด้วย
1.1 การรู้จักตนและการประเมินตนเอง (Self-awarenessand  self-evaluation  skills) ได้แก่
ความกระตือรือร้น การไม่หยุดนิ่ง การมีทิศทางของตนเอง  วิสัยทัศน์  ความยืดหยุ่น  การคิดสร้างสรรค์  และความรับผิดชอบในงานของตนเอง
1.2 การพูดและการสื่อสาร (Communication)
1.3 พฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสม (Assertiveness)
1.4 เทคนิคการบริหารเวลา (Time management)
 2. ความสามารถในการประยุกต์ความสามารถส่วนบุคคลในการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ได้แก่
2.1 การบริหารจัดการ
P (Planning) การวางแผน การกำหนดเป้าหมาย การกำหนดนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติงาน
O (Organization) การจัดองค์การ และการจัดการในหน่วย
S (Staffing) การบริหารงานบุคคล
D (Directing) การอำนวยการ
Co (Cooperating) การร่วมมือ
R (Report) การรายงาน
B (Budgeting) การจัดการการเงิน
2.2 การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ การจูงใจ การแก้ไขความขัดแย้ง การจัดการความเครียด การใช้อำนาจและการให้อำนาจ การให้อิสระและการสั่งงาน การพัฒนาการศึกษา การฝึกอบรม และการติชม
3. การประสานความร่วมมือ (Collaboration)
4. การใช้กระบวนการวิจัย
5. การเผยแพร่ข้อมูล
6. การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
7. การเปลี่ยนแปลง
8. การเป็นตัวแทน (Representation)
9. การเป็นแบบอย่าง (Role model)
จากคุณลักษณะของภาวะผู้นำ  สามารถแยกตามตัวอักษร   LEADERSHIP ได้ดังนี้
L =   Love ความรัก หมายถึง   ผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำต้องเริ่มด้วยการมีความรักเสียก่อน คือ รักในหน้าที่การงาน รักผู้ร่วมงาน รักผู้ใต้บังคับบัญชา รักความก้าวหน้า รักความยุติธรรม
E = Education and Experience หมายถึง คุณสมบัติทางด้านการศึกษาและประสบการณ์ที่ดี เป็นแบบอย่างและสามารถสั่งสอนแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาได้ถูกต้อง
A = Adaptability หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
D = Decisiveness หมายถึง มีความสามารถในการพิจารณาตัดสอนใจได้รวดเร็ว ถูกต้อง แน่นอน กล้าได้กล้าเสีย
 E= Enthusiasm ความกระตือรือร้น มีความตั้งอกตั้งใจในการปฏิบัติงานและสนับสนุนชักนำ (Encourage) ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานอย่างจริงจังด้วย
R =   Responsibility เป็นผู้มีความรับผิดชอบทั้งในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ทอดทิ้งหรือปัดความรับผิดชอบให้ผู้อื่น
S = Sacrifice and sincere ต้องเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม จริงใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเคารพนับถือ
H = Harmonize เป็นผู้มีความนุ่มนวล ผ่อนปรน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและความเข้าใจอันดีต่อกันในหมู่ผู้ร่วมงาน อาจรวมถึงการถ่อมตัว (Humble) ตามกาลเทศะอันควร
I = Intellectual capacity เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ทันคนทันต่อเหตุการณ์ เป็นผู้รอบรู้ และมีความคิดริเริ่ม
P = Persuasiveness เป็นผู้มีศิลปในการจูงใจคน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้หลักจิตวิทยา (Psychology) และต้องมีอำนาจ (Power) ในตัวเองพอสมควร

สรุป
ความเป็นผู้นำเป็นหน้าที่หนึ่งในหลายๆหน้าที่ของผู้บริหาร   ผู้นำกับผู้บริหารจึงแตกต่างกันกล่าวคือ  ผู้บริหารเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นในองค์การ  มีอำนาจโดยตำแหน่งและได้รับความคาดหวังในหน้าที่เฉพาะเจาะจง  จะมุ่งเน้นที่การควบคุม การตัดสินใจ และผู้บริหารจะต้องมีลักษณะของผู้นำ (Leadership) ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม  ส่วนผู้นำจะไม่ได้รับมอบอำนาจทางสายงานแต่มีอำนาจโดยวิธีอื่น  มีบทบาทที่กว้างกว่าบทบาทผู้บริหารและบ่อยครั้งที่ไม่ได้มีส่วนในองค์การอย่างมีรูปแบบ ผู้นำจะเน้นที่กระบวนการกลุ่ม การรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การให้ข้อมูลย้อนกลับ  และการใช้อำนาจกับบุคคลอื่น  ดังนั้นภาวะผู้นำจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบริหารหรือต่อตัวผู้บริหาร เพราะภาวะผู้นำจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสำเร็จของหน่วยงาน  งานจะดำเนินไปด้วยดีและบรรลุวัตถุประสงค์ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะและศิลปในการบริหารงานของผู้นำซึ่งทักษะและศิลปที่ใช้ในการบริหารงาน คือ ภาวะผู้นำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น