แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วรรณกรรมในการทำวิจัย

การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มึความสำคัญในการทำวิจัยทุกประเภท
4.1  คำว่า “วรรณกรรม” ในขั้นตอนนี้ หมายความว่าอะไร และมีความสำคัญอย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างของวรรณกรรมมาอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง
           วรรณกรรมตามนัยของกระบวนการวิจัย คือ การสืบค้นหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะสาขาวิชาของผู้วิจัย โดยตัวผู้วิจัยเองที่เสาะแสวงหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบฐานความคิดความรู้ของผู้วิจัย หรือเพื่อนำมาประกอบการเขียนโครงร่างการวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ หรือโครงร่างการวิจัยเพื่อขอทุนทำวิจัย
ในการวิจัยแต่ละเรื่อง “การทบทวนวรรณกรรม” จะปรากฏในบทที่ 2 ของวิทยานิพนธ์ การนำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้วิจัยได้ใช้ความสามารถในการสืบค้น ทบทวนและสำรวจข้อมูลเพื่อนำเสนอว่าในประเด็นหรือหัวข้อที่ผู้วิจัยได้ตัดสินใจเลือกทำวิจัยนั้นมีเรื่องอะไรบ้างที่ได้ทำมาแล้ว ใครเป็นผู้ทำ วิจัยเรื่องนั้นๆ และทำเมื่อใด ผลการศึกษาได้ข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของตนอย่างไร ผู้วิจัยสามารถนำผลที่ได้จากการทบทวนไปใช้ในการสร้างเสริมกรอบแนวความคิดของตนได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์ความรู้” ที่จะนำมาเป็นกรอบความคิดทางทฤษฎี ที่ผู้วิจัยสามารถสืบค้น “ข้อมูล” จากผู้อื่นที่ได้ศึกษามาแล้ว
วรรณกรรมเพื่อการวิจัย แบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. วรรณกรรมช่วยในการสืบค้น (Preliminary Sources) หมายถึง วรรณกรรมที่ช่วยให้ผู้ค้นคว้าสามารถค้นหาหนังสือ บทความ วารสารและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเองทำการวิจัย วรรณกรรมช่วยการสืบค้นมักจะเป็นหนังสือและวัสดุอ้างอิง เช่น พจนานุกรม, สารานุกรม, หนังสือรายปี, อักขรานุกรมชีวประวัติ, นามานุกรม, หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์, สิ่งพิมพ์รัฐบาล, หนังสือคู่มือ, หนังสือดรรชนี ,หนังสือบรรณานุกรม เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีวัสดุอ้างอิงประเภทซีดี-รอม ที่รวบรวมสนเทศเนื้อหาเดียวกับหนังสืออ้างอิงและบันทึกในลักษณะมัลติมีเดีย เช่น Union List of Serial in Thailand, ERIC, CIJE, APA, DAO เป็นต้น
2. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Sources) หมายถึง วรรณกรรมทางการศึกษา ซึ่งผู้เขียนรายงานการวิจัยหรือประสบการณ์ของตนเองในงานทางการศึกษา เช่น
2.1 วารสารทางการศึกษา
-  วารสารทางการศึกษาที่เป็นภาษาไทย
-  วารสารทางการศึกษาโดยทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านการบริหารการศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านหลักสูตรและการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษ
-  วารสารด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษ
2.2  รายงานการวิจัยทางการศึกษา ที่จัดทำขึ้น โดยบุคลากรในหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งสามารถแบ่งตามแหล่งที่มาได้ 3 ประเภท ดังนี้
2.2.1 รายงานการวิจัย ที่ผลิตโดยอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
2.2.2 วิทยานิพนธ์ เป็นวรรณกรรมปฐมภูมิที่มีแบบอย่างทั้งรูปแบบและเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งผู้ที่ค้นคว้าจะได้ประโยชน์ดังนี้
1) จากการสรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล ทำให้ได้ข้อคิดสำหรับเลือกปัญหาในการวิจัยหรือกำหนดขอบเขตปัญหาการวิจัย
2) จากรายงานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในบทที่ 2 ซึ่งประหยัดเวลาในการค้นคว้าลงได้ส่วนหนึ่ง
3) จากตัวอย่างเครื่องมือที่ปรากฎในภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
4) จากรายการบรรณานุกรมที่อยู่ท้ายเล่มของวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
2.2.3  หนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ตรงทางการศึกษา
3. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Sources) หมายถึงวรรณกรรมทางการศึกษาซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงรายงานสรุปผลงานวิจัยของผู้อื่นโดยที่ผู้เขียนมิได้เป็นผู้ทำการวิจัยในเรื่องนั้นๆโดยตรง เช่น
- ประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษา
- สถิติการศึกษา
- NSSE Yearbooks
- AERA
4.2  นักวิชาการแบ่งแหล่งที่มาของ “วรรณกรรม” ออกได้เป็นกี่แหล่ง อะไรบ้าง จงอธิบายความหมายของแหล่งที่มาของวรรณกรรมแต่ละแหล่ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างแหล่งวรรณกรรมเหล่านั้น มาให้ชัดเจน
          แหล่งที่มาของวรรณกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 3 แหล่งใหญ่ๆคือ
1. แหล่งข้อมูลประเภทเอกสารและรายงาน เช่น
1.1 ตำรา  (Textbooks) ตำราเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่เราคุ้นเคยมากที่สุด  ความรู้ด้านทฤษฎีทั้งหลายเราได้จากการศึกษาค้นคว้าตำรา  
1.2 บทความทางวิชาการ (Review articles)บทความทางวิชาการเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้คล้ายๆ กับ ตำรา แต่ความรู้ต่างๆ ในบทความทางวิชาการจะค่อนข้างทันสมัยมากกว่าตำรา
1.3 รายงานผลการประชุม (Proceeding reports)รายงานผลการประชุมเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่แตกต่างจากตำรา และบทความทางวิชาการ  
1.4 รายงานประจำปี (Year books)รายงานประจำปีเป็นแหล่งข้อมูลที่สรุปผลงานที่เกิดขึ้นจริงในแง่มุมต่างๆ ขององค์กรนั้นๆ จึงเป็นเอกสารอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาศึกษา
1.5 รายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่างๆ (Scientific papers from journals)วารสารเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้หลากหลายประเภท บทความทางวิชาการที่กล่าวมาแล้วก็ได้มาจากวารสาร  ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็อาจได้มาจากวารสาร
1.6 บทคัดย่อการวิจัยในวารสาร (Abstract journal) บทคัดย่อการวิจัยในวารสารก็ต้องยึดหลักเช่นเดียวกับรายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ดังได้กล่าวไว้แล้ว
1.7 วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา (Students dissertation)วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะวิทยานิพนธ์ทุกชิ้นจะต้องมีอาจารย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ควบคุมการทำวิจัย
2. แหล่งข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น
2.1  ฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์และสื่อฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Computer Databases and Electronic Bulletin Boards)
2.2  ฐานข้อมูลบางอย่างเก็บไว้ในซีดีรอม บางส่วนอาจเป็นฐานข้อมูลที่ต้องบอกรับในลักษณะออนไลน์
2.3  ฐานข้อมูลในเครือข่ายสารสนเทศ (UniNet)
3. แหล่งข้อมูลประเภทสถานที่ บุคคลและวัสดุสิ่งของ มีความจำเป็นสำหรับการวิจัยบางประเภทโดยเฉพาะการวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยเชิงมานุษยวิทยา งานวิจัยประวัติศาสตร์ ผู้ที่จะทำวิจัยควรเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆและศึกษากระบวนการวิจัยให้เหมาะสม
4.3  การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นักวิจัยให้น้ำหนักความสำคัญและความน่าเชื่อถือกับวรรณกรรมจากแหล่งใดในข้อ (2) มากที่สุด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จงอธิบายมาให้เข้าใจ
จากการศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในการทำวิจัย นักวิจัยให้น้ำหนักความสำคัญและความน่าเชื่อถือกับวรรณกรรมจากวรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Literature) เช่น บทความวิชาการ (Articles)  และวารสารวิชาการ (Journals) และสารสนเทศที่เกิดจากการค้นคว้าหรือคิดค้นพิสูจน์ หรือทำการวิจัยโดยตรงจากเจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานเป็นผู้เสนอเอง ถือว่าเป็นวรรณกรรมทางการศึกษาที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเพราะ เป็นการสื่อความหมายโดยตรงระหว่างผู้จัดทำผลงานวิจัยนั้นๆกับผู้อ่าน วรรณกรรมปฐมภูมิจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของผุ้ค้นคว้าวรรณกรรมการวิจัยที่จะต้องค้นคว้าไปให้ถึง เพื่อที่จะให้ได้รายละเอียดต่างๆของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของการวิจัยของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นวรรณกรรมปฐมภูมิ  จึงมีความเชื่อถือสูง และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการทบทวนวรรณกรรม

1 ความคิดเห็น: