แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการวิจัยทางการบริหารการศึกษา

ขั้นตอนแรก การกำหนดปัญหา เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและแนวทางการทำวิจัย รวมทั้งจะทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า ปัญหานั้น สามารถทำวิจัยได้หรือไม่ ประเด็นปัญหานั้นต้องเป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ สำคัญ เป็นไปได้ในการปฏิบัติ มีข้อมูลเพียงพอ ได้รับความร่วมมือจากผู้ตอบ เป็นต้น
ขั้นตอนที่สอง การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยมี 2 ประเภท คือ
1)วัตถุประสงค์ทั่วไป เป็นความมุ่งหมายที่เขียนไว้กว้างๆ
2)วัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นความมุ่งหมายที่เขียนเจาะจงว่าผู้วิจัยต้องการจะทราบคำตอบในเรื่องอะไรบ้าง
งานวิจัยบางงานจะปรากฎวัตถุประสงค์ทั้งสองประเภท และบางงานจะมีเพียงวัตถุประสงค์เดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยและเรื่องที่ศึกษา
ขั้นตอนที่สาม การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยเรื่องนั้นๆ โดยอาศัยแนวความคิดและทฤษฎีที่มีอยู่มากำหนดว่า ตัวแปรต่างๆที่ศึกษามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร ประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้ในแต่ละข้อจะหาคำตอบได้อย่างไร จะใช้วิธีการวิธีการวิจัยประเภทใดจึงจะเหมาะสม และได้คำตอบที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
ขั้นตอนที่สี่ การเขียนสมมติฐาน สมมติฐาน หมายถึง คำตอบที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุมีผลต่อปัญหาที่ศึกษา หรือข้อบ่งบอกถึงการคาดคะเนของความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ทั้งนี้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง เงื่อนไข หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น สมมติฐานที่ใช้ในการวิจัย จำแนกได้ 2 ประเภทคือ 1)สมมติฐานทางการวิจัย เป็นสมมติฐานที่อยู่ในรูปของข้อความ 2) สมมติฐานทางสถิติ เป็นสมมติฐานที่เขียนอยู่ในรูปโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ โดยใช้สัญลักษณ์แทนคุณลักษณะของประชากรหรือพารามิเตอร์ สมมติฐานทั้งสองประเภทมีวิธีการเขียนได้สองแบบคือ สมมติฐานแบบมีทิศทางและสมมติฐานแบบไม่มีทิศทาง และสมมติฐานที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
1)เป็นข้อความที่ระบุคงามสัมพันธ์ที่คาดหวังระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
2)กำหนดขึ้นอย่างมีเหตุผลบนฐานของหลักการและทฤษฎี
3)สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
4)สามารถตอบคำถามได้ครอบคลุมปัญหา
5)สามารถทดสอบได้
6)เขียนได้กะทัดรัด ชัดเจน เข้าใจง่าย
7)เขียนแยกเป็นหลายข้อ แต่ละข้อเป็นการค้นหาคำตอบเพียงประเด็นเดียว
8)เขียนในรูปของประโยคบอกเล่า
9)มีขอบเขตพอเหมาะ ไม่แคบหรือกว้างเกินไป
10)มีความคงที่สำหรับความจริงที่ค้นพบแล้ว
11)มีอำนาจในการพยากรณ์สูง
ตัวแปร หมายถึง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของสิ่งต่างๆที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ ที่มีค่าเปลี่ยนแปลงได้ ไม่คงที่ ค่าที่เปลียนแปลงนี้อาจอยู่ในรูปของตัวเลขหรือข้อความก็ได้
การจัดประเภทตัวแปรที่นิยมมี 2 แบบ ได้แก่
1)การจัดประเภทตามระดับการวัด 4 ระดับ ดังนี้
-มาตรวัดแบบจัดกลุ่ม (Nominal Scale)
-มาตรวัดแบบจัดอันดับ (Ordinal Scale)
-มาตรวัดแบบช่วง (Interval Scale)
-มาตรวัดแบบอัตราส่วน (Ratio Scale)
2)การจัดประเภทตามความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัว ดังนี้
-ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) เป็นตัวแปรที่มาก่อน ที่ส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อตัวแปรอื่น บางครั้งเรียกว่าตัวแปรต้น
-ตัวแปรตาม (Dependent Variable) เป็นตัวแปรผลที่มาจากตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือตัวแปรที่วัดได้จากการทดลอง
ขั้นตอนที่ห้า การนิยามศัพท์ เป็นการให้ความหมายเฉพาะแก่คำศัพท์ กลุ่มคำ หรือวลีที่ใช้ในการวิจัย เพื่อทำความเข้าใจหรือสื่อความหมายให้ผู้อ่านได้เข้าใจตรงกับผู้เขียน วิธีการเขียนนิยามศัพท์ สามารถทำได้ 3 ลักษณะคือ การนิยามเชิงแนวความคิด, การนิยามเชิงทฤษฎีและการนิยามเชิงปฏิบัติการ
ขั้นตอนที่หก การเลือกเอกสารหรือวรรณกรรม หมายถึง ผลงานเขียนทางวิชาการที่มีการจัดทำหรือจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อคอมพิวเตอร์ หรือสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆซึ่งมีแหล่งที่มา 3 ประเภท คือ เอกสารอ้างอิงทั่วไป, เอกสารปฐมภูมิและเอกสารทุติยภูมิ โดยการเลือกเอกสารเหล่านี้ ผู้วิจัยควรคำนึงถึง
1)ความทันสมัย เหมาะสมในการอ้างอิง
2)เป็นเครื่องชี้นำในการศึกษาข้อมูลของผู้วิจัย
3)มีหนังสืออ้างอิงเพียงพอที่จะเป็นแนวทางการศึกษาค้าคว้าเพิ่มเติม
4)เสนอแนวคิดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น