แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยและพัฒนาทางการบริหาร

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) หรือ การวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยเชิงปฏิบัติการหรือการวิจัยในชั้นเรียน หมายถึง การวิจัยที่เน้นการนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือพัฒนางานในหน้าที่เป็นเรื่องๆ ผู้วิจัยเป็นผู้กำหนดกิจกรรมแล้วนำกิจกรรมนั้นมาทดลองปฏิบัติและดูผล แล้วนำผลมาปรับปรุงแก้ไขและนำไปทดลองใหม่จนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจจึงจะนำผลนั้นไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่

          ประโยชน์ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (วิจัยในชั้นเรียน)
1. ครูมีความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแก้ปัญหาในชั้นเรียนได้ทันท่วงที สามารถใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติ,เพิ่มพูนปริมาณของการเรียนรู้อย่างจริงจังจากประสบการณ์ของตนเองและนำผลวิจัยไปทำผลงานวิชาการได้
2. ผู้บริหารหรือหน่วยงานมีข้อมูลสำหรับใช้ปรับปรุงพัฒนางานอย่างเป็นระบบ และมีแนวทางในการดำเนินงานหรือกำหนดมาตรฐานต่างๆในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมทำให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
          3. วิจัยเชิงปฏิบัติการโดยปกติเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม แสดงว่ามีการร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ต่างฝ่ายต่างก็พึงพอใจต่อการมีส่วนร่วม ทำให้ผลการปฏิบัติดีขึ้น ส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์

รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นรูปแบบที่ใช้กระบวนการดำเนินงานเปรียบเสมือนวัฎจักรของเดมมิ่ง หรือวงจร PDCA (Plan, Do, Check, Act) โดยมีกระบวนการวิจัยดังนี้ กำหนดปัญหา, วางแผนแก้ปัญหา(P), ดำเนินการแก้ปัญหา(D), วิเคราะห์/สรุปข้อมูลหาทางแก้ไขปรับปรุง(C), ทดลองใช้(A), สรุปและสะท้อนผล(A), สรุปผลการวิจัย, จัดทำรายงานการวิจัย
การวิจัยและพัฒนา (Research and Development)
          การวิจัยและพัฒนา หมายถึง การวิจัยที่เน้นกระบวนการที่นำไปใช้พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทางการศึกษา ลักษณะการวิจัยประเภทนี้จะเป็นการนำผลผลิตที่ได้จากการวิจัยพื้นฐานหรือวิจัยประยุกต์มาพัฒนาหรือสร้างให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ
รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา
รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ  โดยแต่ละประเภทมีธรรมชาติและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาโจทย์วิจัยของงานทั้ง 4  ลักษณะนี้จึงแตกต่างกัน  คือ
1. งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการวิจัยที่มีการตั้งโจทย์การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง
2. งานวิจัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาว เป็นงานวิจัยที่เตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
3. งานวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเป็นการวิจัยเพื่อให้ได้ทางเลือกใหม่ในการพัฒนา
4. งานขยายผลการวิจัย เป็นกระบวนการจัดการปลายทางเพื่อหาข้อมูลบางประการหรือสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ผลงานที่ได้จากการวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
ประโยชน์ในการทำวิจัยประเภทวิจัยและพัฒนา
1.    ผู้บริหารสถานศึกษามีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในศักยภาพของสถานศึกษาและสามารถบริหารงานสถานศึกษาไปสู่คุณภาพที่กำหนดไว้
2.    ครูผู้สอนมีความมั่นใจ เปิดใจกว้างในการรับรู้นวัตกรรม แนวทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆในสถานศึกษาและมุ่งเน้นการปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาของผู้เรียน ทำให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
3.    ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพและบรรลุตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
          รูปแบบของการวิจัยและพัฒนา เป็นรูปแบบที่ใช้กระบวนการดำเนินงานเช่นเดียวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ  วัฎจักรของเดมมิ่ง (PDCA) และเป็นการวิจัยที่เชื่อมโยงกระบวนการวิจัยให้เข้ากับกระบวนการพัฒนา เป็นการศึกษาองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารและจัดการศึกษาโดยมีกระบวนการวิจัยดังนี้ การวางแผนปฎิบัติการ(P), การลงมือปฏิบัติ(D), การตรวจสอบหรือการประเมินผล(C), การนำผลการประเมินไปสู่การปรับปรุงพัฒนา(A) โดยวางแผนปรับเปลี่ยนหาแนวทางที่เหมาะสมและเริ่มต้นที่การวางแผนแล้วจึงนำไปปฏิบัติใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น