แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ รุจิรา เรือนเหมย

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความแตกต่างของการวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ และการวิจัยเชิงอนาคต

การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา พิจารณาจากวิธีดำเนินการทางวิจัย นิยมใช้การวิจัยประเภท การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ และการวิจัยเชิงอนาคต ตามลำดับ
การวิจัยเชิงสำรวจ
การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการศึกษาลักษณะความเป็นจริงตามสภาพในเรื่องต่างๆที่ต้องการศึกษาโดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลเพื่อจัดทำรายงานนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำไปวิเคราะห์หาแนวทางในการวางแผนและปรับปรุงสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
1. การศึกษาองค์ประกอบเป็นการสำรวจกลุ่มประชากรที่ผู้วิจัยสนใจจะศึกษาให้ทราบถึงองค์ประกอบของกลุ่มประชากรในด้านต่างๆ ว่ามีด้านใดบ้างที่ทำให้กลุ่มประชากรเป็นเช่นนั้น
2. การศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาองค์ประกอบ เป็นการสำรวจสภาพและปรากฎการณ์ภายในสถานศึกษาและศึกษาความแตกต่างระหว่างตัวแปรที่ต้องการเปรียบเทียบ
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1.เพื่อศึกษา ...............(ตัวแปรตาม).............
2.เพื่อเปรียบเทียบ .............(ตัวแปรตาม) ............จำแนกตาม ............ ตัวแปรอิสระ
3.เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ .............

การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เป็นการศึกาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปรขึ้นไป ผลการศึกษาจะทำให้ผู้วิจัยเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆได้ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ
1. การศึกษาสหสัมพันธ์ เป็นวิธีการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยการคำนวณหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพื่อดูขนาดและทิศทางของความสัมพันธ์เท่านั้น
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1) เพื่อศึกษา .............(ตัวแปรทั้ง 2 ตัว)...........
2) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง .......ตัวแปรที่ 1 ............กับ ................. ตัวแปรที่ 2...........
3) เพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง ........ตัวแปรที่ 1 .......กับ .......... ตัวแปรที่ 2....... จำแนกตามตัวแปรอิสระ
4) เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ .........
2. การศึกษาทำนายตัวแปรการศึกษาสหสัมพันธ์ เป็นการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของตัวแปรอิสระต่างๆ ที่ทำให้เกิดตัวแปรผลหรือตัวแปรตาม โดยศึกษาปรากฏหารณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการได้
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อศึกษา ........ตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม ........
2)เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ........ตัวแปรอิสระ ......กับ .......ตัวแปรอิสระ .........
3)เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง .....ตัวแปรอิสระ ......กับ ...... ตัวแปรตาม .......
4)เพื่อค้นหา ........ตัวแปรอิสระ ........ที่ใช้เป็นตัวพยากรณ์ .......ตัวแปรตาม ........
5)เพื่อสร้างสมการพยากรณ์ .......ตัวแปรตาม ...........

การวิจัยเชิงอนาคต
การวิจัยเชิงอนาคต เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงเพื่อคาดคะเนหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตโดยมุ่งเน้นเวลาในอนาคตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
รูปแบบการศึกษาจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.เทคนิคกการฉายภาพอนาคต เป็นการพยากรณ์อนาคตแบบเส้นตรง เหมาะสำหรับการพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบน้อยตัว มีประโยชน์ที่ช่วยให้ทราบสาเหตุของแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต ข้อเสียคือ การจำกัดขอบเขตตัวแปรแคบและไม่มีทางเลือก
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อศึกษาวิธีการคาดคะเน ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2)เพื่อศึกษาแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
3)เพื่อคาดประมาณ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
4)เพื่อหาแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2.เทคนิคเดลฟาย เป็นการพยากรณ์โดยใช้ตัวเลขและแผนภูมิด้วยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่กระจัดกระจายให้สอดคล้องกันอย่างมีระบบ สื่อของการแสดงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ในรูปของแบบสอบถามและต้องสอบถามประมาณ 3-4 รอบ ในแต่ละรอบจะต้องมีการสรุปความคิดเห็นของกลุ่มในรอบที่ผ่านมาให้ทราบด้วย
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อทราบแนวโน้มของ ..... ตัวแปรที่ศึกษา ......... ในอนาคต
2)เพื่อศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวโน้ม ..... ตัวแปรที่ศึกษา ......... ในอีก ..............จำนวน ........ปีข้างหน้า
3.เทคนิค EFR (Ethnographic Future Research) เป็นการสร้างภาพอนาคตโดยการศึกษาหรือคาดการณ์แนวทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในอนาคต เทคนิคนี้เป็นกระบวนการพัฒนาวิธีการจากการฉายภาพอนาคตและการพยากรณ์มาเป็นการวิจัยทางมนุษยวิทยาที่เรียกว่าชาติพันธุ์วรรณา การสร้างภาพอนาคตตามแนว EFR เป็นการเล่าเรื่องราวในอนาคตเป็น 2 ประเด็น คือ สิ่งต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไร การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องด้วยคำถามปลายเปิดและไม่ชี้นำ และสรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ด้วย 4 ขั้นตอน คือ
3.1การบรรยายสรุปการแจกแจงแนวความคิดที่เป็นความเห็นร่วมกันของผุ้ให้สัมภาษณ์
3.2การวิเคราะห์ค้นหาและตรวจสอบคำอธิบายกรณีที่แนวความคิดขัดแย้งกัน
3.3การตีความเพื่อหาความสัมพันธ์ของแนวคิดในรายงานการสัมภาษณ์กับระบบสังคมปัจจุบัน
3.4การวินิจฉัยเพื่อแสวงหาแนวทางไปสู่การแก้ปัญหา การป้องกันอันตรายและการขัดแย้งที่มีอยู่ในรายงานการสัมภาษณ์
แนวการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยสามารถเขียนได้ดังนี้
1)เพื่อหารูปแบบ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
2)เพื่อนำเสนอรูปแบบ ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........
3)เพื่อศึกษา ..... ตัวแปรที่ศึกษา .........ในอนาคต
ประเภทการวิจัยทั้ง 3 ลักษณะ มีรูปแบบการศึกษาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การเขียนวัตถุประสงค์ สมมติฐานการวิจัย กรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษาและการวิเคราห์ข้อมูล การศึกษาตัวอย่างของประเภทการวิจัยทั้ง 3 ลักษณะจะทำให้เกิดแนวคิดและเห็นความแตกต่างของทั้ง 3 ลักษณะอย่างชัดเจน เป็นประโยชน์ในการเลือกทำวิจัยได้ตรงกับปัญหาการวิจัยที่ต้องการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น